FM 98.50 MHz.
สถานีวิทยุเพื่อการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ทำความรู้จักกับ “วิทยุดิจิตอล” ที่ประเทศไทยเตรียมจะใช้

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากการรับชมทีวีระบบอนาล็อกมาเป็นดิจิตอลอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งหลายบ้านก็สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้แล้ว แต่นอกจากทีวีดิจิตอลแล้ว อีกไม่นานนี้เรากำลังจะมี “วิทยุดิจิตอล”ด้วยเช่นกัน ซึ่งการรับฟังวิทยุอนาล็อกแบบเดิมในปัจจุบันในปัจจุบันนั้น ปัญหาที่ผู้ฟังทุกคนต้องได้พบคือ ไม่สามารถรับฟังได้อย่างชัดเจน มักมีคลื่นแทรก และไม่สามารถรับฟังข้ามจังหวัดได้ ทำให้การรับฟังวิทยุนั้นจำกัดอยู่แค่ในชุมชน หรือในจังหวัด แต่อีกไม่กี่ปีข้างนี้การฟังวิทยุจะไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไปและจะมีประสิทธิภาพพร้อมความสามารถที่มากขึ้น เมื่อสำนักงานกสทช.กำลังมีแผนการที่จะรับส่งสัญญาณวิทยุในระบบดิจิตอล

ประเทศไทยกำลังจะมีวิทยุดิจิตอล

ปัจจุบันการรับฟังวิทยุในประเทศไทยยังคงใช้ระบบอนาล็อกในการรับส่งสัญญาณ ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในย่าน FM และ AM โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรับฟังวิทยุกระจายเสียงในระบบอนาล็อกคือ ไม่สามารถรับฟังได้ชัดเจน และมีปัญหาจากการรบกวนสัญญาณจากวิทยุชุมชนที่มีการใช้งานคลื่นความถี่ในย่าน FM จำนวนมาก การเริ่มระบบการส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลจึงเป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาการรับฟังวิทยุได้ เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ สามารถรองรับรายการวิทยุได้มากขึ้นถึง 6 – 18 รายการ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีระบบอนาล็อก ส่งผลให้การรับฟังวิทยุสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น จากเดิมที่สามารถรับฟังได้เฉพาะบางพื้นที่เช่น กรุงเทพมหานคร ก็จะสามารถรับฟังได้ในระดับประเทศ  และอาจทำให้สัดส่วนจำนวนครัวเรือนที่รับชมรายการวิทยุมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถให้บริการข้อมูล (Data Broadcasting) ไปพร้อมกับสัญญาณเสียง คือ สามารถฟังวิทยุไปพร้อมๆดูข้อความหรือดูภาพ (ภาพนิ่ง หรือ Slide) บนหน้าจอวิทยุดิจิตอลได้ ทำให้ผู้บริโภคสามารถได้รับข่าวสาร หรือข้อมูลเพิ่มเติมจากเนื้อหารายการที่รับชม

สำนักงานกสทช. จึงมีแผนการเริ่มการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอลภายใน 2 ปี โดยจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลภายใน 3 ปี และมีการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลภายใน 4 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนครับเรือนในเมืองใหญ่ที่สามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ  80 ภายใน 5 ปี

รู้จักกับวิทยุดิจิตอล

การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอลที่ประเทศไทยจะดำเนินการ จะใช้คลื่น VHF ในการรับส่งสัญญาณ โดยวิทยุอนาล็อกกับวิทยุดิจิตอลนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ด้วยคุณภาพของเสียงที่ฟังนั้นจะมีความชัดเจน ไม่มีคลื่นแทรก หากฟังเพลงก็จะเหมือนกับการรับฟังผ่านทาง CD และไม่มีการจำกัดพื้นที่ในการรับฟังอีกต่อไป เพราะจะสามารถรับฟังได้ครอบคลุมในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

นอกจากนี้ จุดเด่นที่สำคัญคือ วิทยุดิจิตอล มีความสามารถในการ ส่งได้ทั้งเสียง ข้อความและภาพไปพร้อมๆกัน หากฟังเพลงก็อาจจะมีชื่อเพลงที่ฟังอยู่แสดงขึ้นมาให้เห็น พร้อมภาพศิลปินที่ร้องเพลงดังกล่าว หรืออาจมีข้อความบอกรายการต่อไป เพลงต่อไปแสดงขึ้นมา หรือหากเป็นรายการวิทยุด้านการศึกษาก็จะทำให้ผู้จัดรายการสามารถเปิดภาพ Slide ไปพร้อมๆกับการส่งเสียง หรือหากเป็นวิทยุด้านการจราจร ก็สามารถใส่ภาพการจราจรในขณะให้ผู้ฟังได้ชมได้ หรือ DJ อาจถ่ายรูปให้ดูพร้อมๆกับการจัดรายการ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะนำไปใช้งานอย่างไร  แต่การรับฟังวิทยุดิจิตอลนั้นก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่รองรับในการฟังด้วยเช่นกัน

โดย เครื่องรับวิทยุระบบอนาล็อกที่เราใช้ๆกันอยู่ทุกวันนี้ ใช้ฟังวิทยุดิจิตอลไม่ได้ แต่สำหรับรถยนต์ที่ไม่ได้มาพร้อมกับเครื่องรับวิทยุดิจิตอล ก็จะมีอุปกรณ์สำหรับต่อเพิ่มเข้าไป เพื่อให้สามารถรับฟังทั้งวิทยุดิจิตอลและวิทยุอานาลอคได้ อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้มีรถยนต์หลายรุ่น โดยเฉพาะรถยนต์ที่ผลิตสำหรับประเทศที่มีการออกอากาศวิทยุดิจิตอลแล้ว เช่นในยุโรป ก็มาพร้อมกับวิทยุดิจิตอลแล้ว

ในตอนนี้มีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกแล้วที่รับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล เช่น อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นอร์เวย์ เป็นต้น ส่วนในเอเชียก็มี เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ดำเนินการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล

 

ที่มา : www.it24hrs.com